11 Jun
11Jun

การฝึกซ้อมประจำวัน

เริ่มจากการเล่นเสียงยาว (Long tone)

           ผมจะเริ่มเล่นเสียงแรกด้วยโน้ตเสียงซอล (เส้นที่2) ทุกครั้ง เพราะเป็นโน้ตที่ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปและเป็นโน้ตที่รูปปากเราอยู่ในลักษณะเป็นธรรมชาติมากที่สุด ผมใช้แบบฝึกหัดของ Vincent Cichowicz , Long   Tone Studies แบบฝึกหัดนี้ผมจะเน้นเรื่องการใช้ลม การควบคุมลมให้มีความต่อเนื่องผลิตเสียงให้มีคุณภาพที่ดีไม่เค้นหรือเกร็ง คิดแต่ละโน้ตให้ไปในลักษณะแนวนอนคือไม่ว่าจะเล่นเสียงสูงหรือต่ำ  เราจะต้องทำให้ทุกๆโน้ตมีเสียงไพเราะ เรียบสม่ำเสมอกัน ต่างเฉพาะระดับเสียง เราจะไม่ทำเสียงในลักษณะขึ้นลงตามโน้ต ให้เปลี่ยนความเร็วของลมในการเล่นโน้ต เช่น การเล่นโน้ตที่มีระดับเสียงที่สูงให้เป่าลมเร็ว ส่วนโน้ตเสียงต่ำก็เป่าลมช้า ผมจะเน้นเรื่องลมเป็นหลัก


          ต่อด้วยการเล่นบันไดเสียง(Scales) การเล่นบันไดเสียงมีความสำคัญมาก เพื่อฝึกให้เราสามารถเล่นระดับเสียงในแต่ละโน้ตให้มีคุณภาพและไม่เพี้ยน นอกจากนั้นยังฝึกการฟัง การได้ยินเสียงที่ถูกต้องมีคุณภาพ ให้ผู้ฝึกลองหารูปแบบของบันไดเสียงมาฝึกซ้อม นอกจากการเล่นแบบขึ้นลง อาจจะเล่นแบบเป็น pattern หรือมีลักษณะขึ้นลงสลับไปมา  เช่นเดียวกันการเล่นบันไดเสียงให้คิดถึงการใช้ลมเป็นหลัก การเล่นแต่ละโน้ตผมจะคิดเป็นลักษณะแนวนอนเพื่อให้การปล่อยลมออกไปข้างหน้าแม้ว่าโน้ตนั้นจะขึ้นหรือลงก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการบีบในขณะเล่นเสียงสูงหรือการปล่อยมากไปสำหรับการเล่นโน้ตเสียงต่ำ และควบคุมการใช้นิ้วในการกดเปลี่ยนระดับเสียง ควรกดลูกสูบให้เร็วไม่ว่าจะเล่นในจังหวะที่ช้าหรือเร็วเพื่อให้เสียงมีความชัดเจน


          จากนั้นต่อด้วย Lip flexibility หรือ Lip slur ผมจะเริ่มด้วยเสียงซอลเส้นที่2 G ขึ้นไป C และคู่ต่างๆ เป็น 3 โน้ต 4 โน้ต ขึ้นไปเรื่อยๆตามความต้องการของผู้ฝึกซ้อม สามารถคิดรูปแบบได้เองเพื่อความสนุกในการฝึกซ้อม แต่จะขอเน้นเรื่องการใช้ลม การควบคุมลมช้าเร็วในการเล่นแต่ละโน้ต เพื่อหลีกเลี่ยงการเกร็ง เราสามารถฟังจากเสียงที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร แบบฝึกหัดนี้เป็นการฝึกกล้ามเนื้อปากให้มีความยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง ข้อแนะนำสำหรับการฝึกนี้คือ ควรมีเวลาพักสลับกับการเป่าให้มากพอ อย่าให้กล้ามเนื้อปากเกิดการเมื่อยล้ามากไป ทุกครั้งที่ซ้อมควรจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อพร้อมที่จะเล่นต่อไป


            การควบคุมการใช้ลิ้น (Tonguing) เนื่องจากมีรูปแบบและแบบฝึกหัดเป็นจำนวนมาก อยากให้ผู้ฝึกลองหามาฝึกซ้อมเองครับ สำหรับผมใช้รูปแบบของการเล่นแบบบันไดเสียง ขั้นคู่ การเล่นแบบ double, triple และแบบฝึกที่มีลักษณะคล้ายเพลง แนะนำหนังสือของ J.B.Arban


            ซ้อมแบบฝึกหัดต่างๆ หรือเพลงที่เราอยากจะเล่นหรือกำลังจะแสดง

            หนังสือสำหรับทรัมเป็ทมีมากมาย ผมแนะนำหนังสือสำหรับฝึกซ้อมแค่บางส่วนที่ผมใช้บ่อยๆ

                      -Melodious Etudes for Trumpet by Marco Bordogni

                      -Technical Studies for the Cornet by H.L. Clarke

                      -The buzzing book by James Thompson

                      -Complete method for Trumpet by J.B. Arban

                      -36 Etudes Transcendantes for Trumpet by Theo Charlier


            โดยสรุปสำหรับการซ้อมประจำวันของผมจะเน้นเรื่องการหายใจและเรื่องการควบคุมลมเพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตเสียงที่ดีและการพัฒนาเรื่องอื่นๆต่อไป ซึ่งจริงๆแล้วการซ้อมประจำวันอาจจะมีรายละเอียดมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับเวลาที่มี ผมอยากให้ทุกคนลองออกแบบการซ้อมของตัวเองครับ ว่าเราควรจะเพิ่มหรือลดตรงจุดไหนเพื่อให้เหมาะกับเรา และให้มีประสิทธิภาพและได้ผลดีที่สุด


Wirote Srisunanrat

June, 12    2017


ความคิดเห็น
* อีเมลจะไม่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์
I BUILT MY SITE FOR FREE USING