7 วิธีในการเอาชนะอาการตื่นเวที “Stage Fright”
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการประกวดศิลปหัตถกรรมสำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบระดับประเทศ ทำให้ผมคิดถึงสิ่งหนึ่งที่มักเกิดกับนักแสดงสมัครเล่น หรือแม้แต่นักแสดงมืออาชีพเองก็ตาม ซึ่งความรู้สึกนั้นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Stage Fright” หรือที่เรียกแบบไทยว่า “อาการตื่นเวที” นั่นเอง ซึ่งเมื่ออาการนี้เกิดขึ้นกับใครก็ตามที่ต้องขึ้นพูดหรือแสดงดนตรีต่อสาธารณะแล้วล่ะก็ มันอาจทำให้เกิดอาการประหม่าจนเกิดผลเสีย ควบคุมสมาธิไม่ได้ หรือเราอาจลืมทุกสิ่งที่เตรียมมาแสดงได้เลย วันนี้ผมจึงนำบทความที่น่าสนใจมาให้อ่านกันครับ 7 วิธีในการเอาชนะอาการตื่นเวที
1. คิดถึงสิ่งแย่ๆที่กำลังจะเกิด
ลองคิดถึงสิ่งแย่ๆที่จะเกิดขึ้นขณะแสดง ความอาย ดูโง่ คนดูเดินออก ปาของขึ้นเวที หรือถูกให้ออกจากงาน ลองคิดดูครับว่าสิ่งเหล่านี้มันหนักเทียบได้กับเด็กที่ไม่มีอาหารกิน หรือทหารที่กำลังเสี่ยงตายออกรบหรือเปล่า จงทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต แสดงให้เต็มที่และอย่าคิดมาก ถ้าคุณแสดงไม่ดี ถูกไล่ออกจากงาน คุณอาจได้งานใหม่ที่ดีกว่า แล้วจะกลัวทำไม?
2. การยอมรับ
จงยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ยอมรับตัวตน ยอมรับในความสามารถของตัวเอง หาวิธีที่จะทำให้ตัวเองเกิดการยอมรับที่หนักแน่นขึ้น เช่น ถ้าคุณกลัวว่าคนอื่นจะคิดไม่ดีกับคุณ ลองคิดถึงคำพูดที่ว่า “ฉันยอมรับว่า ฉันไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบฉันและคนที่ไม่ยอมรับในการเล่นดนตรีของฉันก็ปล่อยเขาเถิด ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไรก็ชั่งเขา”
3. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้คุณสุขภาพดีขึ้น แต่เมื่อเริ่มออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสาร endorphins ที่จะส่งผลให้สมองคิดบวก และยังมีงานวิจัยกล่าวว่า การออกกำลังกายช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น เพิ่มความมั่นใจในตนเอง ทำให้นอนหลับสนิทในตอนกลางคืน สิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนมีส่วนช่วยให้คุณเอาชนะความกลัวในการแสดงได้ทั้งสิ้น
4. มุ่งไปที่การทำเพื่อผู้อื่น
ลองคิดถึงสิ่งที่คุณต้องการสื่อให้ผู้ชมรู้ในการแสดงของคุณ เช่นคุณต้องการให้ผู้ชมมีความสุขในเสียงเพลงของคุณ ต้องการช่วยเหลือให้ผู้ชมหายเครียด ลืมความทุกข์และผ่อนคลาย เมื่อคุณคิดได้แบบนี้ ความคิดของคุณจะหลุดออกจากความกลัวและความประหม่า
5. ซ้อมให้มาก
หากคุณต้องการเอาชนะความตื่นเวทีขณะแสดง สิ่งที่คุณต้องทำอย่างยิ่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจขณะแสดงดนตรีคือ ซ้อมให้มาก หากต้องการแสดงให้ได้ 100% คุณควรซ้อมให้ได้ 100% หรือมากกว่า ทำซ้ำๆเพื่อเพิ่มความชำนาญให้มากที่สุด
6. ทดลองแสดงให้บ่อย
หากคุณต้องการจะแสดงดนตรีต่อสาธารณะ เพื่อผู้ชมจำนวนมาก วิธีฝึกแสดงง่ายๆคือ ลองแสดงต่อหน้าเพื่อนของคุณ ญาติพี่น้อง ครู แสดงบ่อยๆช่วยลดความตื่นเต้นได้ดีเลยทีเดียว
7. มองความสำเร็จที่กำลังจะเกิด
ลองมองไปที่ความสำเร็จบ้าง หลับตานึกถึงการแสดงดนตรีที่ดีที่สุดของคุณ ไร้ข้อผิดพลาด บทเพลงถูกบรรเลงได้อย่างสวยงาม ผู้ชมต่างลุกยืนขึ้นปรบมือกึกก้อง เมื่อคุณคิดได้เช่นนั้น มันก็อาจเกิดขึ้นจริงได้เหมือนกันไม่ใช่หรือ
#ขอให้เกิดประโยชน์กับทุกคน
#อย่าเอาแต่ซ้อมเครื่องดนตรีทำอย่างอื่นบ้าง
บทความอ้างอิงจาก
https://www.thoughtco.com/tips-to-overcome-stage-fright-299…